Macro
July 11, 2022
Monetary Policy & Crypto เมื่อสิ่งที่เหนือกว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีคือนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

“ Careless shepherd make excellent dinner for Wolf”
- Earl Derr Biggers

“คนเลี้ยงแกะที่ประมาทเลินเล่อในการเลี้ยงแกะนั้น ก็ไม่ได้ต่างจากการเตรียมอาหารมื้อโอชะให้หมาป่า” มีนักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีหลายคนพลาดพลั้ง และกล้าที่ลงทุนตามความเชื่อและโฟกัสแค่ปัจจัยในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ได้ศึกษาภาพรวมของตลาด Macroeconimics จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหยื่อให้กับคำโฆษณาของโปรเจคต์ต่างๆไปเสีย และหลังจากตลาดหมีผ่านไปสิ่งที่เขาลงทุนด้วยความประมาทนั้น ก็ไม่เคยกลับมาอีกเลย….

ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเลยที่คิดว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นผูกอยู่กับเทคโนโลยีในอนาคตบ้าง เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีพื้นฐานบ้าง ตลาดนี้จึงมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดทุนอื่นทั่วไป และทำให้ภาพจำของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นดูคลุมเครือไปเสีย แม้ในเชิงทฤษฎีแล้วคริปโทเคอร์เรนซีบางตัวก็มีมูลค่า มีการใช้งาน ซึ่งบางโปรเจคต์ก็มีจุดประสงค์ที่ดี คอนเซปต์ดี แต่ความเป็นจริงแล้วราคาของโปรเจคต์ดังกล่าวก็อิงกับตลาดเงินตลาดทุนหลักที่ใหญ่กว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ดี มีการเก็งกำไร มีการ Leverage ไม่ได้ต่างไปจากตลาดทุนหลัก  เช่นเดียวกับตลาดทุนอื่นๆ เมื่อมีข่าว หรือ การแถลงนโยบายทางการเงินที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น ปัจจัยพวกนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดแรงขายหรือแรงซื้อมหาศาลเกิดขึ้นในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุนอื่น หรือ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งช่วงนี้ก็จะได้เห็นเทรนด์การพูดคุยเกี่ยวกับ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย หรือ QT มากขึ้น ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจทิศทางของตลาดในช่วงเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงการประกาศบังคับใช้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED  สิ่งที่นักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีควรศึกษาอาจจะไม่ใช่แค่ปัจจัยทางตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งนั้นก็คือภาพรวมของ “นโยบายทางการเงิน” เพื่อให้ตัวเองได้เข้าใจถึง Sentiment ของตลาดทุนโดยรวมที่อยู่ครอบตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอีกที 

What is monetary policy ?

นโยบายการเงิน (Monetary policy)  คือ เครื่องมือของธนาคารกลางสหรัฐ FED หรือ ธนาคารกลางทั่วไป ใช้ในการกำหนดต้นทุนการกู้ยืมและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ

โดยธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย ซึ่งก็คือ
1. จัดการเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หรือควบคุมราคาของสินค้าและบริการ
2. ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะบริหารประเทศในระยะยาว
3. จัดการเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อควบคุมค่าเงินของประเทศ 


ซึ่งนโยบายการเงินจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและราคาสินค้าและบริการ ส่งผลต่อการปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและบริการ โดยส่วนใหญ่หลายประเทศมักจะใช้นโยบายทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “อัตราเงินเฟ้อ” เป็นหลัก โดยทางธนาคารกลางสหรัฐได้อ้างว่า “อัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” ธนาคารกลางต่างๆจึงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ หรือที่เรียกว่า การดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น กล่าวคือการใช้นโยบายทางการเงินแบบขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วนักลงทุนหลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า การดำเนินการใช้นโยบายทางการเงินโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นนั้น ดำเนินการอย่างไร ? ซึ่งในความเป็นจริงแล้วธนาคารกลางใช้อัตราเงินเฟ้อ คู่กับสภาพเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดนโยบายแต่ละครั้ง เช่น ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในจุดที่ควมคุมได้ ธนาคารก็จะเลือกใช้มาตราการเชิงผ่อนคลาย (Dovish) เช่น Quantitative Easing และ ลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการกู้ยืมและหมุนเครื่องจักรเศรษฐกิจต่อ  แต่ถ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินไปก็อาจจะทำให้ธนาคารกลางเลือกใช้มาตราการเชิงเคร่งครัด (Hawkish) และเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อลดการกู้เงิน ชะลอเครื่องจักรเศรษฐกิจ (เปรียบเหมือนกันลด Demand ของตลาด) ซึ่งต่อไปนี้เราจะพาทำความรู้จักเกี่ยวกับ นโยบายทางเศรษฐกิจแต่ละแบบโดยจำแนกตามโทนของนโยบาย ซึ่งก็คือ นโยบายเชิงผ่อนคลาย (Dovish) และ นโยบายเชิงเคร่งครัด (Hawkish) โดยทั้งสองโทนนี้จะมีความสัมพันธ์และล้อไปกับตลาดทุนอื่นๆและตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

Tips:
Hawkish = นโยบายทางการเงินแบบเหยี่ยว = นโยบายเชิงเคร่งครัด
Dovish = นโยบายทางการเงินแบบพิราบ = นโยบายเชิงผ่อนคลาย 

2 Types of monetary policy (categorized by tone) 

1.Dovish Tone: Quantitative Easing (QE) / Low Rate

คำว่า Easing แปลว่า ผ่อนคลาย ดังนั้น QE คือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ "นโยบายทางการเงิน" รับผิดชอบโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยใช้รับมือกับปัญหาการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ วิธีการก็คือ ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อ "สินทรัพย์ทางการเงิน" ในปริมาณมหาศาล โดยทั่วไปจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินที่สถาบันการเงินต่างๆ ได้ฝากไว้กับธนาคารกลาง มักเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ชนิดต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, หุ้นกู้ของบริษัทใหญ่ๆ เป็นต้น เมื่อธนาคารกลางรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารเอกชน ก็จะทำให้สินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าวนั้นเปลี่ยนสภาพเป็น "เงินสด" ซึ่งหมายถึงธนาคารเอกชนก็จะมีเงินสดเตรียมไว้ปล่อยสินเชื่อให้นักธุรกิจได้ทันที จึงทำให้มาตร QE มีลักษณะเหมือนการ "อัดฉีด" หรือ "แจกเงินสด" โดยมาตราการนี้มักจะใช้ร่วมกับ มาตราการลดดอกเบี้ยนโยบาย (Low rate) นั่นเอง



Appendix 1: The process of QE  (Credit: Capital.com)

โดยการที่ธนาคารกลางใช้เงิน (พิมพ์เงิน) กว้านซื้อพันธบัตรของรัฐบาลของประเทศ และ พันธบัตรของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบและพร้อมดอกเบี้ยให้ต่ำลง (Low rate) เมื่อดอกเบี้ยต่ำ เงินจึงมีราคา "ถูก" ทั้งประชาชนและธุรกิจก็อยากจะกู้เงินไปใช้สอยและลงทุน ทั้งหมดนี้ทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดหุ้นเติบโต เม็ดเงินในตลาดทุนสูงขึ้น

ในช่วงที่โควิดที่ผ่านมามาตราการ QE ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ เนื่องจากเกิดการล้อคดาวน์ทำให้เศรษฐกิจชะงัก โดยการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบทำให้ประชาชนได้รับอำนาจในการซื้อเพิ่มขึ้น ทดแทนรายได้ที่หดหายไปในช่วงวิกฤต พร้อมกดดอกเบี้ยลง เพื่อบังคับให้คนใช้เงิน ไม่ให้เก็บเงินไว้ในธนาคาร ข้อดีก็คือทำให้ประชาชนมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ข้อเสียกลับมากกว่านั้น เพราะการกระทำที่เหมือนการพิมพ์เงินเข้าระบบแบบนี้เหมือนกับการเพิ่มจำนวนเงินในระบบเศรษฐกิจซึ่งอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ (หันภาพมาดูว่าตอนนี้มีกี่ประเทศที่รอดจากเงินเฟ้อ)

ดังนั้นการพิมพ์เงินอย่างมีคุณค่านั้นนั้น จำเป็นต้องมีสินทรัพย์อย่างทุนสำรองทองคำมาค้ำประกัน (ซึ่งยกเลิกมาตรฐานทองคำไปตั้งแต่ประมาณปี 1970) เพราะถ้าพิมพ์ขึ้นมาตามใจชอบ เงินเหล่านั้นแทบจะไม่มีความหมาย หรือไม่มีค่า กลายเป็นเหมือนกระดาษธรรมดา และส่งผลจนเป็นวิกฤตทางการเงิน เป็นเหตุผลทำให้เกิดแนวคิดของ Bitcoin ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านของประชาชนที่ไม่อยากให้ธนาคารกลางควบคุมการเงิน ที่เปรียบเสมือนตั๋วแลกเวลาชีวิตของพวกเขานั่นเอง

1.1 Cryptocurrency Market with Dovish tone

เราอาจจะกล่าวได้เลยว่าเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่อย่างมาก เมื่อจำนวนเงินในระบบเพิ่มมากขึ้น และดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนรู้สึกว่าต้องนำเงินมาใช้มาลงทุนเพื่องอกเงยดีกว่าการเก็บไว้เฉยๆ ตลาดคริปโทที่เป็นเหมือนตลาดความเสี่ยงสูง (ในมุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่) ก็ได้รับอนิสงค์จากความกล้าของนักลงทุน เพราะว่าเงินนั้นได้มาง่ายและพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ


Appendix 2: Correlation of Bitcoin & FED Balance Sheet (Credit: Research Team, Statista.com)

ยกตัวอย่างให้เห็นช่วง Bull run ในปี 2020 - 2021 ที่ผ่านมานอกจาก Narrative ของคริปโทเคอร์เรนซีหรือ Bitcoin จะดีขึ้นแล้ว นโยบายทางการเงินแบบ QE และการลดดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ 0% เปรียบเสมือนตัวเร่งให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดคริปโทจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นปีทองและให้ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดแก่นักลงทุน แถมกลายเป็น Marketing ของการลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีต่อสายตานักลงทุนทั่วโลกและอย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าเม็ดเงินไม่ได้ไหลเข้าแค่ Bitcoin หรือ คริปโทเคอร์เรนซี เท่านั้น ตลาดทุนอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นก็มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาเช่นกัน โดยเฉพาะเซคเตอร์เทคโนโลยี


Appendix 3: Market cap of Bitcoin (Credit: Statista.com)

ภาพของ Marketcap ของ Bitcoin ในช่วงปีกระทิงในปี 2021 ซึ่งขึ้นไปสูงถึง $1,156b (1 ล้านล้านดอลล่าร์) ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าเป็นปีที่ Bitcoin นั้นทำการเปลี่ยน Narrative ที่ดีขึ้นมาพร้อมกับปัจจัยทางนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายที่คอยสนับสนุนให้คนหันมาลงทุนกับเทคโนโลยีมากขึ้น กล้าเสี่ยงกับเทคโนโลยีในอนาคตมากขึ้น ซึ่งนอกจาก Bitcoin จะเติบโตอย่างสุดขีดจนทำ All time high แล้ว หุ้นเทคโนโลยีก็แข่งขันกันทำ All time high เช่นกัน โดยภาพด้านล่างก็แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดหุ้นสหรัฐ S&P 500 (เส้นสีน้ำเงิน) กับ FED Balance Sheet (เส้นสีเขียว) ซึ่งในปี 2020 กราฟสองเส้นนี้พุ่งขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน


Appendix 4: Correlation S&P 500 & FED Balance Sheet (Credit: RecessionALERT.com)

Ad Hoc: Quantitative Easing Tapering (QE Tapering)

คำว่า Taper แปลว่า ทำให้ลดลง ดังนั้น Tapering คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ แต่ก็ยังอัดฉีดอยู่ เช่น จากเดิมทำอยู่เดือนละ $85,000 ลดเหลือเดือนละ $75,000 จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้น คนอเมริกันมีงานทำมากขึ้นนั่นเอง อาจจะไม่ได้รุนแรงมากกว่ามาตราการทางการเงินอื่นมากเท่าไร แต่ใช้เป็น Indicator เพื่อแสดงให้เห็นว่า FED เริ่มมีทิศทางการเงินแบบผ่อนคลาย “ลดลง” แล้วนั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นก็ยังตอบสนองในเชิงบวกต่อมาตรการนี้อยู่ดี เพราะยังเป็นมาตราการที่แสดงให้เห็นว่าอนาคตก็จะยังมีเงินเพิ่มเข้าในตลาด แต่จำนวนลดลงต่อเดือน ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเองจึงสามารถอยู่ใน Upside ได้มากกว่าจะอยู่ใน Downside


2. Hawkish Tone: Quantitative Tightening (QT) / Rate Hike

คำว่า Tight แปลว่าแน่น ตึง ดังนั้น QT คือนโยบายการเงินแบบตึงตัวที่ธนาคารกลางจะดึงเงินที่เคยอัดฉีดเข้าระบบมาก่อนหน้านั่นออกไปจากระบบการเงิน หรือ ลดงบดุล โดยส่วนใหญ่จะเป็นการดึงเงินออกจากระบบด้วยวิธี Reverse Repo หรือการขายพันธบัตร ที่เคยซื้อมาตอนทำ QE กลับสู่ตลาด (ให้ประเทศอื่นหรือนักลงทุนช่วยซื้อ) หรือ ด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่เคยซื้อมาผ่านการใช้นโยบาย QE ให้ครบอายุ รัฐบาลที่เปรียบเหมือนลูกหนี้ของธนาคารกลางก็ต้องจ่ายคืนเงินต้น จากนั้นธนาคารกลางเองก็จะไม่นำเงินก้อนนี้ไปซื้อพันธบัตรอะไรมาเข้ามาใหม่ แต่จะทำให้เงินจำนวนนี้หายไปเฉยๆ ด้วยการลบออกจากระบบออกไปเลย เหมือนตอนพิมพ์เงินใหม่เข้ามาก็พิมพ์เงินเข้ามาแบบเฉยๆเหมือนกัน โดยการบังคับใช้นโยบายทางการเงินนี้เกิดจากการที่เศรษฐกิจเจอปัญหาเงินเฟ้อ


Appendix 5: The process of QT  (Credit: Research team, Capital.com)

ขอกล่าวถึงพันธบัตร (Bond) ที่ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาการกู้ยืมเงิน ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นก็ต้องมีวันกำหนดการใช้คืน ดังนั้นเหมือนครบอายุของพันธบัตร รัฐบาลที่เป็นเหมือนลูกหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้คืนธนาคารกลางที่เป็นเจ้าหนี้ซึ่งทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบจะมีจำนวนลดลง ซึ่งเหมือนเป็นการแก้เงินเฟ้อกลายๆ โดยมาตราการนี้มักจะถูกใช้ร่วมกับมาตราการเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย (Rate hike)

ตัวอย่างเช่นในปี 2018 ธนาคารกลางอเมริกาหรือ FED ตัดสินใจไม่ Rollover พันธบัตรรัฐบาลบางส่วน ดังนั้นแทนที่พวกเขาจะขายพันธบัตรให้กับตลาด แต่พวกเขากลับตัดสินใจให้พันธบัตรดังกล่าวหมดอายุและไม่ออกพันธบัตรใหม่มาแทนที่ (ไม่ Rollover) ซึ่งทำให้รัฐบาลที่เป็นเหมือนลูกหนี้ต้องจ่ายเงินคืน (ซึ่งรัฐบาลอเมริกาก็สามารถต่อรองกับธนาคารกลางได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นประเทศมหาอำนาจ) บวกกับ ในขณะเดียวกัน Fed ก็ได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้งในปี 2018 โดยดอกเบี้ยนโยบายในปี 2018 ของสหรัฐอยู่ในกรอบ 2.25-2.5% จึงเกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างมหาศาล


Appendix 6: FED Balance Sheet (Credit: Research team, Fed Balance Sheet )

(รูปทางซ้าย) จะแสดงให้เห็นเม็ดเงินใน Balance Sheet ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งจะพบว่าหลังเกิดการดำเนินนโยบายแบบ Hawkish ขึ้น ทำให้เงินในระบบเริ่มลดลงซึ่งสัมพันธ์กับกราฟที่กดหัวลงและนักลงทุนส่วนใหญ่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกจำนวนไม่น้อย


(รูปทางขวา) ในรูปจะแสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินที่ถูกเพิ่มเข้ามาในระบบจำนวนมากในช่วงที่เกิดการทำ Quantitative easing และกดดอกเบี้ยในเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐในช่วงโควิดในปี 2019 ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อจนเกินควบคุม และบีบให้ธนาคารกลางต้องใช้นโยบาย Quantitative tightening  และขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 2022 เพื่อลดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว


การที่สภาพคล่องในตลาดลดลงและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนั้นจะดึงดูดในนักลงทุนแห่ถือครองเงินสดที่เป็นสกุลดอลล่าร์ เพราะว่าจำนวนเงินในระบบเริ่มลดลง อาจจะทำให้มูลค่าสูงขึ้น และเมื่อเก็บก็จะได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เมื่อคนต้องการถือเงินสด(ที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ)มากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะถูกเทขายออกมา เพื่อแปลงสภาพให้เป็นเงินสด หรือไม่ก็ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ดูมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า กล่าวคือนโยบายทางการเงินแบบนี้บังคับให้นักลงทุนต้องลงทุนแนว Defensive มากขึ้น



Appendix 7: Total Market Value of US Stocks (Credit: Siblisresearch.com)

จากภาพจะเห็นได้ว่ามูลค่าของตลาดหุ้นในปี 2018 นั้นลดลงเกือบ 1 Trillion เมื่อเกิดการบังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบ QT พร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นปรับตัวลงขนาดหนัก สินทรัพย์เสี่ยงกว่าอย่างคริปโทเคอร์เรนซีนั้นก็ยิ่งทวีคูณเข้าไปอีก


2.1 Cryptocurrency Market with Hawkish tone


เมื่อการทำ QE และ Low rate เปรียบเสมือนตัวเร่ง ดังนั้นการทำ QT และ Rate hike ก็เปรียบเป็นตัวสกัด เมื่อตลาดได้รับสัญญาณของการลดจำนวนของเงินในระบบ จึงจำเป็นต้องทำการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออก และย้ายไปสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำกว่า ทำให้ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเองจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งความรุนแรงนี้ทวีถูกคูณไปด้วยอันดับความเสี่ยงของประเภทการลงทุน

ยิ่งเสี่ยงมากเท่าไร ก็ยิ่งถูกเทขายแรงมากขึ้นเท่านั้น อาจจะสรุปได้เลยว่า มาตราการนโยบายทางการเงินแบบนี้เป็นตัวเร่งของตลาดหมีนั่นเอง 

Appendix 8: Correlation of Bitcoin & FED Balance Sheet (Credit: Research Team, Wolfstreet.com)

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2018 นั้นมีการลดจำนวนเม็ดเงินใน Balance Sheet ของ FED ขึ้นซึ่งส่งผลต่อสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก และปี 2018 ถือว่าเป็นช่วงตลาดหมีของจริงของสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะ Bitcoin ซึ่งในตอนนั้น “ยังเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก” ความรุนแรงของการเทขายจึงทวีความรุนแรงกว่าตลาดหุ้นเข้าไปอีก เพราะเป็นสินทรัพย์เสี่ยงกว่าซึ่งราคาร่วงจาก 20,000$ สู่ 4,000$ และมีแนวโน้มอยู่ขาลงตลอดปี 2018 เลยทีเดียว



Appendix 9: Market cap of Bitcoin (Credit: Statista.com)

ภาพของ Marketcap ของ Bitcoin ในช่วงตลาดหมีในช่วงปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ $65b เท่านั้น นักลงทุนส่วนใหญ่เองก็ให้ความคิดเห็นเหมือนกับตลาดหุ้น ที่ถูกจำกัด Upside ด้วยการดึงสภาพคล่องออกด้วยการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเคร่งครัดนั่นเอง ในภาพด้านล่างแสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของ Quantitative Tightening กับหุ้นสหรัฐ S&P 500 ในปี 2017 - 2018 ช่วงแรกของการ QT นั้นตลาดหุ้นยังไม่ได้แสดงออกมาได้ชัดเจนนัก แต่เมื่อทำการดึงสภาพคล่องออกไปได้สักพักถึงจะเห็นแนวโน้มขาลงได้ชัดเจน ก่อนจะมาทำ Bottom ช่วง Covid-19 ระบาดทั่วโลก


Appendix 10: QT and S&P 500 (Credit: SeekingAlpha.com)

เมื่อเข้าใจถึงนโยบายทางการเงินต่างๆแล้ว ก็จะมีการกล่าวถึงสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องรุ้จักสินทรัพย์เสี่ยงให้ดี เพราะว่าเราจะได้เข้าใจถึงการขยับตัวของนักลงทุนสถาบัน หรือเทรนด์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดได้นั่นเอง หรือแม้อาจจะทราบไปถึงผลกระทบ ความรุนแรง เช่น เมื่อเกิดการบังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบหนึ่ง นักลงทุนก็จะแห่ขายสินทรัพย์หนึ่งไปสู่สินทรัพย์หนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้เห็นภาพ Sentiment ของเม็ดเงินที่ไหลขยับอยู่ในตลาดทุนได้ ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจถึงการเรียงลำดับของสินทรัพย์เสี่ยงเสียก่อน


Understand the narrative of risk asset: เข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์


Appendix 11: Risk & Return Spectrum (Credit: Messari.io)

Risk 1: Cash = เงินสด
Risk 2: Investment Grade Bonds /  High Yield Bonds = พันบัตรรัฐบาล / พันธบัตรหุ้นกู้
Risk 3: Real Estate = อสังหาริมทรัพย์
Risk 4: Large Cap US Stocks= หุ้น Top ของอเมริกา (Russell 1000 value index)
Risk 5: Small Cap US Stocks / Developed Mkt Stocks = หุ้นตัวเล็กของอเมริกา (Russell 2000 Growth) / หุ้นประเทศพัฒนา
Risk 6: Emerging Mkt Equities = หุ้นประเทศกำลังพัฒนา
Risk 7: Cryptocurrency = คริปโทเคอร์เรนซี

ภาพข้างบน คือ Risk&Return Spectrum ที่นักลงทุน traditional ใช้เทียบสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งใช้ความสัมพันธ์ระหว่าง ผลตอบแทน และความเสี่ยง จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดการบังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เงินก็จะไหลออกจาก Cash ไปสู่สินทรัพย์ต่างๆจนไปคริปโทเคอร์เรนซี (ถูกจัดว่าความเสี่ยงสูงสุด เพราะให้ผลตอบแทนสูงสุด) ส่วนเมื่อเกิดการบังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบเคร่งครัด เงินก็จะไหลออกจากสินทรัพย์ต่างๆกลับเข้าสู่ Cash คริปโทเคอร์เรนซีถูกจัดอยู่อันดับท้ายสุด เพราะว่า คริปโทเคอร์เรนซีนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดเพราะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ในเชิงปฎิบัติแล้วการดูทิศทางของตลาดที่ตอบสนองต่อทิศทางนโยบายทางการเงินของ Fed นั้นส่วนใหญ่นักลงทุนจะดูผ่าน 3 สินทรัพย์แบบง่ายๆ  1. Cash (DXY) 2. US Bond พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ 3. US Stocks (หุ้นท็อปของบริษัทในสหรัฐ) 



การดูการเคลื่อนไหวของทิศทางการเข้าซื้อขายของสินทรัพย์ดังกล่าวมักจะอ่อนไหวต่อทิศทางทางของนโยบายทางการเงินของ Fed เสมอ ดังนั้นเมื่อเกิดการบังคับใช้หรือนโยบายทางการเงินขึ้น เราจำเป็นต้องมาดูการขยับของสินทรัพย์พวกนี้ก่อนแล้วค่อยกลับไปมองตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เนื่องจากสินทรัพย์พวกนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าและมี Marketcap สูงกว่านั่นเอง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประตูของเงินลงทุนที่จะไหลต่อไปสู่คริปโทเคอร์เรนซีนั่นเอง

หลังจากที่เข้าใจถึงการจัดลำดับสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว นักลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซีก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีความเสี่ยงอยู่อันดับท้ายสุดจริงหรือ เพราะบางครั้งก็ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นก็วิ่งขึ้นตามทิศทางของสินทรัพย์เสี่ยงตัวอื่นเช่นกัน ดังนั้นเราจึงนำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin และ Ethereum มาเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงในระดับอื่นๆ เพื่อที่จะวัดความสัมพันธ์ (Correlation) นั่นเอง 

Tip: ความสัมพันธ์ของคริปโทเคอร์เรนซีและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ



Appendix 12: Correlation BTC & ETH and Risky growth Stocks (Credit: Messari.io)

กราฟข้างบนแสดงความสัมพันธ์ของ BTC และ ETH กับ หุ้น Russell 2000 Growth (หุ้น Small cap ทีมีความเสี่ยงสูง) โดยกราฟแนวตั้งแสดงถึงความสัมพันธ์มีตั้งแต่ -100% ถึง 100% ยิ่งบวกมากยิ่งสัมพันธ์มาก ยิ่งลบมากยิ่งไม่สัมพันธ์ และกราฟแนวนอนแสดงถึงช่วงเวลา จะเห็นได้ว่าคริปโทเคอร์เรนซีในช่วงหลังๆ Dec 2021 - Feb 2022 นั้นตัว BTC และ ETH นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับหุ้นความเสี่ยงสูงน้อยลงกว่าที่คิด ซึ่งมีความสัมพันธ์เฉลี่ยอยู่ที่ ไม่เกิน 40% ด้วยซ้ำ (เส้นประแสดงให้เห็นถึงค่าเฉลี่ย ยิ่งแคบลงยิ่งได้ค่าเฉลี่ยที่ stable มากขึ้นนั่นเอง)
ดังนั้น สรุปได้ว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นไม่ได้มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง


Appendix 13: Correlation ETH and Tech Stocks (Credit: Messari.io)

สิ่งที่กราฟนี้บอกก็คือ ความสัมพันธ์ของ ETH กับ หุ้น NASDAQ และ S&P
จะเห็นได้ว่าเส้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของ ETH-NASDAQ (สีน้ำเงิน) และ ETH-S&P (สีเทา) ในช่วงปี 2021-2022 จะวิ่งลายคล้ายๆกัน ซึ่งเคยไปสัมพันธ์กันที่จุดท้อปที่ 90% เลยทีเดียว แล้วค่อยๆลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70-80%  ซึ่งแตกต่างกับ BTC-Nasdaq และ BTC-S&P ที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างแกว่งไปมา จากที่สัมพันธ์กันที่ 90% และลงมา -40% แล้วขึ้นไปสัมพันธ์ที่  60-70% อีกรอบ ซึ่งค่อนข้างไม่ Stable ดังนั้น BTC จึงไม่มีความสัมพันธ์กับหุ้น NASDAQ และ S&P เท่ากับ ETH นั่นเอง
ซึ่งหุ้นตัวท้อปของตลาดหุ้น NASDAQ และ S&P ก็คือ  Apple, Microsoft, Amazon, and Alphabet
สรุปได้ว่า ETH นั้นมีทิศทางการวิ่งสัมพันธ์กับหุ้น Nasdaq และ S&P กว่า 80% เลยทีเดียว ( ETH = Top Tech stocks) 


Appendix 14: Correlation BTC and Value Stocks (Credit: Messari.io)

สิ่งที่กราฟนี้บอกก็คือ ความสัมพันธ์ของ BTC กับ  Value Stocks
โดยเส้นน้ำเงินคือความสัมพันธ์แบบระยะยาว ซึ่งก็คือ 1 ปี 360 วัน ส่วนสีส้มคือความสัมพันธ์แบบ 6 เดือน 180 วัน (ซึ่งวัดจากทิศทางของราคาของสินทรัพย์ทั้งสองในแบบค่าเฉลี่ยระยะสั้น และระยะยาว)
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2021- 2022 เส้นระยะยาวนั้นมีความสัมพันธ์สูงมากกว่า 80% แม้ระยะสั้นก็มีผันผวนอยู่บ้างตามปัจจัยของแต่ละตลาด อาจจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นวิ่งไม่เหมือนคริปโทเคอร์เรนซีบ้างในระยะสั้น (อาจจะมีข่าวที่เป็นข่าวแย่ของตลาดหุ้น แต่เป็นทางบวกของคริปโทเคอร์เรนซี) แต่ในสถิติในระยะยาวนั้นค่อนข้างน่าสนใจมากๆ เพราะกราฟมาทดสอบที่ค่า 80% มาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2021 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 เลย ซึ่งตัวอย่างของหุ้น Value ก็ได้แก่  Berkshire Hathaway, J&J, JP Morgan, United Healthcare, P&G, Bank of America, และ Exxon
สรุปได้ว่า BTC นั้นมีทิศทางการวิ่งสัมพันธ์กับหุ้น Value มากๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์สูงกว่า 80% เลยทีเดียวในระยะยาว

ดังนั้นในพาทความสัมพันธ์ของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ทำให้เราทราบได้ว่าจริงๆแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin และ Ethereum นั้นไม่ได้มีความเสี่ยงสูงอย่างที่นักลงทุนหลายคนคิดไว้ ซึ่งภายใต้ราคานั้น ก็มีการทำงานของตัว On Chain อยู่ มี Marketcap ที่สูงในในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่ง Bitcoin ปัจจุบัน (6/7/2022) มี Marketcap อยู่ที่ $0.38T (สามแสนแปดหมื่นล้านดอลล่าร์) และ Ethereum มี Marketcap อยู่ที่  $0.13T (หนึ่งแสนสามหมื่นล้านดอลล่าร์)  แต่ทว่าเมื่อลองเทียบกับหุ้นเทคโนโลยีตัวท็อป อย่าง Apple ที่มี Marketcap อยู่ที่ $2.291T (สองล้านสองแสนเก้าหมื่นหนึ่งพันล้านดอลล่าร์) ซึ่งมี Marketcap สูงกว่ามากๆแต่หุ้นตัวนี้ก็ยังมีความผันผวนอยู่ในระดับ 20-30% เราจึงสามารถตีความได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่สินทรัพย์ที่มี Marketcap ต่ำกว่าจะผันผวนรุนแรงกว่าสินทรัพย์ที่มี Marketcap สูงกว่า (Bitcoin และ Ethereum ผันผวนกว่าหุ้น Apple) ดังนั้น ถ้าหากตัดภาพมาเทียบในเชิงเดียวกันในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีแล้วโดยใช้ Marketcap ของ Bitcoin และ Ethereum เปรียบเทียบกับ Altcoins ตัวอื่น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจที่ Altcoin ที่ Marketcap ต่ำกว่าลงไปจึงมีโอกาสโดนผลกระทบที่รุนแรงและผันผวนมากกว่านั่นเอง


Appendix 15: Correlation of APPLE, BTC and ETH (Credit: Research team)


Article Summary

การลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ไม่สามารถที่จะลงทุนตาม Sentiment ของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเพียงอย่างเดียวได้ ถึงแม้บางเหรียญจะมีพื้นฐานที่ดี และมีโปรเจคต์ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่อย่างไรก็ตามเหรียญนั้นก็ไม่อาจเลี่ยง “แรงเก็งกำไร” ของตลาดได้ ดังนั้นนักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีจำเป็นต้องใช้ข้อมูลความเข้าใจในเศรษฐกิจภาพรวมด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ทิศทางของนโยบายทางการเงินเชิงพื้นฐาน รวมไปถึง ความสัมพันธ์ของสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อที่จะทำให้นักลงทุนนั้นสามารถรับมือและบริหารความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงทีและในทุกสภาพตลาด ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ในการลงทุนในทุกประเภทได้ ถ้าเปรียบ “ความรู้ความเข้าใจภาพรวมของตลาด” เป็นอาวุธ นักลงทุนก็สามารถใช้อาวุธนี้ในการเข้าใจ และเอาชนะทุกศัตรูได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทไหนได้

ดาวน์โหลด
DOWNLOAD FOR FREE!
Principe

บทความที่เกี่ยวข้อง

DeFi
Macro
Report
Stablecoin Report by Cryptomind Advisory
Apinat
December 14, 2022
DeFi
Macro
Report
(Teaser Version) Stablecoin Report
Apinat
December 15, 2022
Macro
Report
การลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
Kuljira Ittiamornkul
September 28, 2022